5
ข้อที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจซื้อรถเครนล้อยาง (ความคิดเห็นส่วนตัว)
มีคนถามเข้ามาเยอะมาก
ทั้งถามเป็นการส่วนตัว โทรมาถาม พิมพ์มาถาม พวกเราตอบกันซ้ำๆ
เลยเอามาเขียนไว้เผื่อเป็นข้อมูลประกอบในการหาซื้อรถเครน
ต้องแจ้งก่อนว่าเราเขียนเมื่อเดือน มค. 2557 กลัวว่าถ้าผ่านไปหลายๆปี
ข้อมูลอาจจะไม่เหมาะสม อาจจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย แต่ต้องแจ้งก่อนว่า
เราอ้างอิงจากตำราบ้าง กฎหมายบ้าง ประสบการณ์บ้าง มีคนเล่าใหฟังบ้าง
ความคิดเห็นส่วนตัวบ้าง พยายามรวบรวมไว้ เป็น 4 ข้อ ดังนี้ครับ
...........................
ข้อแรก
“ความเข้าใจที่ผิดๆเกี่ยวกับรถเครนที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้
และธรรมชาติของรถเครนในประเทศไทย”
รถเครน
25 ตัน ไม่ได้แปลว่ายกของได้ 25 ตัน และรถเครน 25 ตัน
ไม่ได้แปลว่ารถเครนหนัก 25 ตัน ที่เราเรียกรถเครน 25 ตัน
เพราะว่าการยกในอุดมคติจะยกได้ที่ 25 ตัน
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ คือ รถเครน 25 ตัน
ในการยกของที่น้ำหนักใกล้ที่สุด แทบจะชิดรถ จะยกได้ 25 ตัน แต่ทำได้แค่ยกขึ้น
นิดเดียว แล้วก็วางลง ประเด็นที่สำคัญ คือ ธรรมชาติของการยกของ
ต้องยกเพื่อเคลื่อนย้ายที่ และ ของน้ำหนัก 25 ตัน ปกติจะมีขนาดใหญ่มากๆ
ทำให้ยกตามอุดมคติไม่ได้
โดยปกติ
แค่น้ำหนักครึ่งนึงของขนาดรถเครนก็แย่แล้ว จากประสบการณ์ของหลายๆคน ยกตัวอย่างเช่น
รถเครน 25 ตัน จะยกของ 12
ตันก็เต็มกลืนแล้ว หรือรถเครน 50 ตันจะยกของ 25 ตันก็พอฟัดพอเหวี่ยง ถ้าคิดจากการคำนวณสลิงที่ทบในรอก (ถ้ามีเวลาจะอธิบายการคำนวณให้ฟังในตอนต่อๆไป)
ถ้าเราต้องการยกของ ควรศึกษากราฟการทำงานรถเครนให้ดี ก่อนซื้อ
ว่าเราใช้ในระยะเท่าไหร่ น้ำหนักสูงสุดเท่าไหร่ เอากราฟมาเปรียบเทียบ และอ้างอิง
ว่าแบบไหนที่เหมาะสมกับเราที่สุด ตามมาตรฐานของหลายๆประเทศ เช่น มาตรฐานรถเครนญี่ปุ่น
มาตรฐานรถเครนอเมริกา มาตรฐานรถเครนออสเตรเลีย ให้คิดที่ 75%
ของกราฟ (อันนี้ก็เป็นเรื่องที่อยากจะอธิบายในตอนต่อๆไปเช่นกัน
แต่ยังไม่มีเวลาเลยครับ)
รถเครนล้อยางในไทยตอนนี้
มี 2 ประเภท ถ้าไม่นับรถบรรทุกติดเครน หรือรถเฮี๊ยบ (Boom trucks,
or Cargo cranes, or Truck loader cranes) คือ
เรียกชาวบ้านๆว่ารถเครน 4 ล้อ (Rough terrain cranes) กับรถเครน12ล้อ หรือรถยาว (Truck cranes)
หมายเหตุ
ไม่ได้นับรถเครนแบบ All Terrain Cranes ที่มีขนาดใหญ่มาก เช่น 100
ตันขึ้นไป เป็นต้น ผู้ที่ซื้อต้องเป็นคนที่เชี่ยวชาญเรื่องรถเครนอยู่แล้ว
จะไม่ขอกล่าวถึงในบทความนี้
รถเครน
4 ล้อ (Rough terrain cranes) ในปัจจุบันมีแต่ละเครนจากค่ายญี่ปุ่น 95%
ที่ใช้งานในเมืองไทย เป็นรถเครนมือสองที่ใช้งานแล้วจากญี่ปุ่น
แบรนด์ญี่ปุ่นเกือบจะ 100%
มีรายละเอียดในแต่ละรุ่นแต่มันละเอียดเกินไป จะอธิบายข้อดีข้อเสียแบบภาพรวมให้ฟัง
พร้อมทั้งข้อแนะนำเพิ่มเติม อ้างอิงจากสมาคมเครนประเทศญี่ปุ่นครับ
ข้อดีของรถเครน
4 ล้อ คือ
หนึ่ง, รถเครน 4 ล้อ สามารถปรับล้อได้
ทำให้ซอกแซกเข้าในที่แคบๆได้ดี
สอง, ห้องบังคับเครนมี ห้องเดียว ทำให้สะดวกในการทำงาน
เหมาะสำหรับการทำงานแบบระยะยาวในพื้นที่เดียวกัน
ข้อเสียของรถเครน
4 ล้อ คือ
หนึ่ง, รถเครน 4 ล้อรุ่นเก่าๆวิ่งไกลไม่ได้
ไม่ควรวิ่งไกลเกิน 10 km เพราะจะทำให้ชุดเกียร์พัง
การวิ่งขึ้นเขา ลงเขาบ่อยๆ จะทำให้ชุดเกียร์สึกหรอเร็ว เวลาเกียร์พัง
มีต้นทุนในการซ่อมไม่ต่ำกว่าแสนบาทไทย
สอง, จากข้อหนึ่ง ทำให้ รถเครน 4 ล้อ
อาจมีปัญหาเรื่องการขนส่ง ขนย้าย ต้องใช้รถเทรลเลอร์ low-bed ในการขนย้าย
ข้อเสนอแนะ
หนึ่ง, รถเครนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ๆ จะมีระบบความปลอดภัยที่สูงกว่า
เพราะมันคือระบบการป้องกันของผู้ผลิตในประเทศญี่ปุ่น แต่มีข้อเสียคือ
รถเครนยิ่งใหม่ ระบบไฟฟ้ายิ่งซ่อมยาก ในเมืองไทยยังขาดแคลนช่างไฟฟ้ารถเครนอีกมาก
ทำให้ต้นทุนในการซ่อมอาจจะแพง ทั้งในเรื่องอะไหล่
สอง, ในอนาคตของประเทศไทย เราก็คงหลีกเลี่ยงระบบไฟฟ้าที่มีความซับซ้อนไม่ได้
รถเครน
10-12 ล้อ (Truck Cranes) ในอดีตมีรถเครนของประเทศญี่ปุ่นอยู่เยอะมาก
แต่ภายหลังการก่อสร้างในประเทศญี่ปุ่นมีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่
ทำให้ญี่ปุ่นต้องผลิตรถเครนแบบเล็กๆ สั้นๆ บูมแปลกๆ (ในอนาคตอีก 4-5 ปี
พวกเราอาจจะได้เห็นกัน) ทำให้รถเครน 10-12 ล้อมีน้อย
แต่ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นที่สำคัญ คือ รถเครนญี่ปุ่นแบบ 10-12 ล้อ
นำเข้ายากมาก จนแทบไม่มีคนนำเข้ามาเลย
สำหรับรถเครนแบบนี้ที่เป็นมือสองจากประเทศญี่ปุ่น
จะไม่ขอกล่าวถึงว่าเพราะสาเหตุอะไร แต่ว่าถ้าซื้อรถเครนมือ 1 ก็สามารถซื้อได้
แต่ราคาจะค่อนข้างแพง รวมถึงรถเครนของค่ายอเมริกา และยุโรปที่ไม่ใช่รถตลาดบ้านเรา
สำหรับแบบ truck cranes
แต่เราก็มีทางเลือกใหม่
ในตอนนี้คือ รถเครนใหม่ป้ายแดงของค่ายจีน ที่เพิ่งเข้าตลาดเมืองไทยมาไม่กี่ปีนี้เอง
2-3 ราย และอาจจะมีเพิ่มขึ้น บางครั้งราคาถูกกว่ารถเครนญี่ปุ่นมือสองซะอีก
แต่ว่าไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ ไม่มีข้อมูลอ้างอิง จะไม่ขอกล่าวถึงครับ
ข้อดีของรถเครน
10-12 ล้อ คือ
หนึ่ง, รถเครนสามารถวิ่งไปทำงานได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยรถเทรลเลอร์หาง low-bed ขนส่ง
สอง, รถเครนประเภทนี้ ถ้าเป็นรถเครนญี่ปุ่นมือสอง จะซ่อมง่ายกว่ารถเครน 4
ล้อ เพราะว่าระบบรถเครนอยู่ในยุค 1970-1990 เป็นส่วนมาก
ระบบยังไม่ซับซ้อน
สาม, ถ้าเป็นรถเครนจีน ก็จะมีข้อดีตรงที่มีบริษัทผู้ขายเป็น dealer ในการดูแลเรื่องการซ่อมบำรุง และจัดอะไหล่ให้
ข้อเสียของรถเครน
10-12 ล้อ คือ
หนึ่ง, รถเครนมือสองญี่ปุ่นที่รุ่นเก่าๆมากๆ ในอนาคต จะหาอะไหล่ยาก
เพราะว่ามันเก่าเกินไปแล้ว ทำให้หาอะไหล่จากญี่ปุ่นไม่ได้ ต้องทำการ modify กัน แต่โดยรวมแล้ว อะไหล่ทั่วไปยังหาได้ง่ายในท้องตลาด ทั้งของแท้
ของเทียม
สอง, รถเครน 10-12 ล้อ แบบรถญี่ปุ่นมือสอง หายากมากๆ
ทำให้หาซื้อแทบไม่ได้ หรือว่าถ้าหาซื้อได้ราคาจะแพงจนน่าตกใจ
เพราะว่ามีแต่คนหาซื้อ ไม่มีคนอยากจะขาย พวกผู้ประกอบการนิยมเล่นรถประเภทนี้
เวลาขายก็ขายได้ราคา ทำให้หาซื้อแทบไม่ได้ ข้อนี้ มีคนถามเข้ามาเยอะมาก
หวังว่าจะตอบข้อสงสัยของคนทั่วไปได้นะครับ
สาม, รถเครน 10-12 ล้อ มีห้องขับรถ 1 ห้อง
ห้องบังคับเครน อีก 1 ห้อง ทำให้ใช้เวลาในการทำงานมากกว่ารถเครน 4 ล้อ เหมาะกับการทำงานแบบครั้งคราว หรืองานแบบเฉพาะกิจ
ข้อเสนอแนะ
หนึ่ง, รถเครนแบบ 10-12 ล้อ
ถือว่าเป็นที่ต้องการของตลาดเมืองไทยมาก เพราะลักษณะการทำงานทั่วไป หรืองานเช่า
จะต้องมีการเคลื่อนย้ายรถเครนเยอะมาก เช่น การทำงานข้ามจังหวัด ข้ามอำเภอ เป็นต้น
สอง, ...
...........................
ข้อสอง
“รถเครนล้อยางที่ใช้ในไทยมียี่ห้ออะไรบ้าง
จากค่ายไหนบ้าง”
เท่าที่รวบรวมข้อมูล
และที่เคยเห็น Market Share ของตลาดโลก
ขอสรุปให้ฟังง่ายๆว่ามีรถเครนทั้งหมด 3 ค่าย คือ
รถเครนค่ายตะวันตก 2. รถเครนค่ายญี่ปุ่น 3. รถเครนค่ายจีน
ที่เป็นเสาหลักในประเทศไทย ในปี 2557 นี้
รถเครนของญี่ปุ่นจะมีทั้งหมด
5 ยี่ห้อหลักๆ
Kobelco,
Tadano, Kato, Komatsu, Sumitomo
รถเครนของจีนจะมีทั้งหมด
3 ยี่ห้อที่เข้ามาเมืองไทยแล้ว คศ.2014
XCMG, Sany,
Zoom Lion
รถเครนตะวันตก
มีหลายยี่ห้อ
Liebherr(Germany) Demag(Germany) Grove(USA) และอื่นๆ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญในตอนนี้
...........................
ข้อสาม
“จุดประสงค์ของการซื้อรถเครน”
ข้อนี้สำคัญมาก
เพราะว่า คนที่มีคำถามว่า จะซื้อเครนอะไรดี ขนาดเท่าไหร่ดี มันขึ้นอยู่กับจุดประสงค์
ของการซื้อรถเครน จริงๆแล้วภาพรวมของรถเครนยังมีรถเครนแบ่งแยกอีกหลายประเภท
ไมว่าจะเป็นเครนแบบไม่เคลื่อนที่ หรือรถเครนแบบเคลื่อนที่ หรือ โมบายเครนอื่นๆ
เช่น รถเครนตีนตะขาบ(Crawler Cranes) รถเครนแบบแปลกๆมีอีกเยอะ
ที่ไม่ค่อยเห็นในไทย เช่น รถเครนแบบบูมไฮโดรลิกแต่เป็นตีนตะขาบ เครนที่อยู่บนเรือ
เครนแบบยกของแล้ววิ่งได้ (Pick and Carry) เครนเรือ
และอื่นๆอีกมากมาย ก่อนที่จะหาซื้อจุดประสงค์ของการซื้อรถเครน อาจจะต้องดูปัจจัยอื่นๆ
เช่น ความพร้อมในการซ่อมบำรุงเครน การใช้งาน การคำนวณกราฟการทำงาน เงินทุนที่มี
การผ่อนชำระเงิน ความยืดหยุ่นในการขายต่อ ความถนัด การพัฒนาของเครนที่เปลี่ยนแปลงไปทุกปี
และอื่นๆอีกมากมาย
คิดจุดประสงค์ที่แท้จริงให้ออก
แล้วคิดต่อได้ง่าย ว่าจะซื้อรถเครนแบบไหนดี
...........................
ข้อสี่
“ข้อแตกต่างของรถเครน กับรถประเภทอื่นๆ คือ
ระบบการซ่อม”
สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่เคยอยู่ในวงการรถเครน
แต่อยากซื้อรถเครน ควรคิดพิจารณาเรื่องปัจจัยของการซ่อมของรถเครนในประเทศไทย
หนึ่ง, ประเทศไทยซ่อมรถเครนแบบไม่ค่อยอ้างอิงตำรา เป็นการลองผิดลองถูก
และหาช่างซ่อมไม่ค่อยได้ เวลาจะซ่อมควรตรวจสอบประวัติของช่างให้ดี
มีช่างหลายคนมีประวัติไม่ค่อยดี ผู้ประกอบการหลายคนโดนกันมาแล้ว
แนะนำว่าต้องตรวจสอบที่มาที่ไปให้ดี
สอง, รถเครนมีปัญหาเรื่องระบบไฟฟ้ามากที่สุด หาช่างยาก ต้นทุนในการซ่อมแพง
อะไหล่แต่ละตัวแพง รองลงมาเป็นเรื่องระบบไฮโดรลิก
ซึ่งเป็นระบบหัวใจในการทำงานของรถเครนล้อยาง ต้องการช่างที่ทำงานละเอียด
และมีความชำนาญมาก
สาม, สภาพรถเครน ขึ้นอยู่กับ พฤติกรรมการใช้รถของคนขับ ต้องตรวจสอบ
ควบคุมคนขับรถเครนของเราให้ดี หลายครั้งรถเครนที่ดี ก็กลายเป็นรถเครนห่วยๆได้
รถเครนห่วยๆ ก็สามารถเป็นรถเครนดีๆได้ ขึ้นอยู่กับคนขับของเราครับ
คนขับคือหัวใจสำคัญ ต้องให้ความสำคัญมากๆ
สี่, ในอนาคต ทั้งในญี่ปุ่น และไทย รถเครนจะมีระบบไฟฟ้าที่มากขึ้น
ช่างยุคใหม่ๆที่เกิดขึ้น จะแก้ปัญหารถเครนกันไม่เก่งเท่าช่างสมัยก่อน
เพราะว่าจะเรียนจากการถอดเปลี่ยนอะไหล่มากกว่าการแก้ปัญหา
ใครที่คิดว่าซื้อรถเครนมาแล้ว ในระยะยาวไม่ต้องซ่อม ขอให้คิดดีๆ
เพราะว่ารถเครนมีปัญหาเรื่องงานซ่อมตามมาเยอะ เช่น ยางรั่ว
สายไฮโดรลิกแตก(อันนี้ป้องกันไม่ได้ เรียกว่า Run to Fail)
น้ำมันไฮโดรลิกรั่ว เป็นต้น
ห้า, ข้อแนะนำสำหรับเรื่องงานซ่อม แนะนำให้ดูแลรถเชิงป้องกัน (Preventive
Maintenance) ในกฎหมายของประเทศอื่น จะบังคับให้มี LogBook บังคับให้ตรวจสอบเครนทุกวัน
หรือจดบันทึกประวัติการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันชนิดต่างๆ เปลี่ยนกรอง ดูแลสลิง เป็นต้น
การปล่อยให้รถเครนเสียแล้วค่อยซ่อม (Breakdown Maintenance)
จะมีต้นทุนที่สูงกว่าการดูแลรถเชิงป้องกัน เรื่องนี้สำคัญมาก
กับการใช้รถเครนในระยะยาว ต้องให้ความสำคัญมากๆครับ
...........................
จบทั้ง
4 ข้อแล้ว
สุดท้ายอยากจะฝากเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน
เพราะว่ารถเครนเป็นเครื่องจักรที่มีความเสี่ยงสูงมาก
อาจทำอันตรายแก่ชีวิตของคนรอบข้าง หรือคนที่ไม่เกี่ยวข้องได้
ไม่ว่าจะเป็นรถเครนล้ม รถเครนคว่ำ สลิงขาด อุบัติเหตุบนท้องถนน
มีคนตายเยอะมากกว่าที่พวกเรารู้ มากกว่าที่พวกเราเห็น แต่ไม่ออกข่าว
การซื้อรถเครนไปแล้ว เราต้องดูแลพวกเขาให้ดี ในจุดความเสี่ยงต่างๆ
ให้ความรู้กับช่าง ให้ความสำคัญกับพนักงานขับรถเครนมากๆ
ขอให้พวกเราทุกคนทำงานกันโดยปลอดภัยทุกวันครับ
เครดิต
ลูกเพจนิรนามท่านหนึ่ง
No comments:
Post a Comment