Sunday, January 19, 2014

การทิ้งรอก (Free fall)

การทิ้งรอก (Free fall)

ตามทฤษฎีแล้ว ทำให้รถเครนตีสภาพได้อย่างมากที่ 80%
เพราะว่า เรื่องสลิง, โครงสร้าง, super structure, ลูกปืน, จานรอก และอื่นๆ
มีความเสียหายสะสม
สะดวกตอนนี้ ลำบากวันข้างหน้า
เครดิต แฟนเพจกลุ่มผู้ประกอบการรถเครน

กฎการทิ้งรอก (free fall) ภาค 2

กฎการทิ้งรอก (free fall) ภาค 2

กฎการทิ้งรอก (free fall) ภาค 2
การทิ้งรอกควรทำเฉพาะตอนที่ไม่มีชิ้นงานอยู่
หรือว่า ถ้าจำเป็น ต้องอย่าเกิด 20% ของความสามารถของสลิง
เพราะว่าการทิ้งรอกมีแรงกระตุกสูงมาก (Shock load)
สรุป รถเครน 25 ตัน หากจำเป็น อย่าทิ้งรอกที่มีน้ำหนักเกิน 600 KG
รถเครน 50 ตัน หากจำเป็น อย่าทิ้งรอกที่มีน้ำหนักเกิด 800KG
(ซึ่งน้ำหนักก็สูสีกับน้ำหนักรอกเล็กรอกใหญ่แล้ว)
สุดท้ายนี้ อย่าทิ้งรอกเป็นดีที่สุด
เครดิต แฟนเพจกลุ่มผู้ประกอบการรถเครน

อย่ายึดติดกับสิ่งพวกนี้

อย่ายึดติดกับสิ่งพวกนี้

1.ระดับน้ำ : รถเครนที่ทำงานในเมืองไทย ส่วนใหญ่จะเก่า ผลิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10-20 ปี ระดับน้ำหลายคันมีตามด หรือสนิม ทำให้เชื่อถือไม่ได้เท่ารถเครนใหม่ๆ
2.ไฟสัญญาณ 3 สี : ไฟสัญญาณนี้ คือ สัญญาณเตือนปลายเหตุ/ ต้นเหตุ คือ การอ่านกราฟให้เป็น และการตั้งรถอย่างถูกต้องมากกว่า
3.คอมพิวเตอร์รถเครน : คอมพิวเตอร์รถเครน ก็เป็นปลายเหตุเหมือนกัน/ ในตำรา OSHA and ANSI บอกว่า ให้เชื่อถือการคำนวณหน้างาน มากกว่าเชื่อถือคอมพิวเตอร์รถ 
4.ใส่หมวก ใส่เข็มขัด ใส่รองเท้าเซฟตี้ ระหว่างขับเครน : ใส่พวกนี้แล้ว (PPE) ไม่ได้ทำให้ทำงานปลอดภัยขึ้น กับเพิ่มความเครียดให้กับ พนักงานขับรถเครน

อันตรายที่มองไม่เห็น …

อันตรายที่มองไม่เห็น …
1. อย่าทำงานใกล้ปากหลุม ปากบ่อ ริมแม่น้ำ ริมทะเล 
ถ้าจำเป็น ต้องห่างจากปากหลุม 1.5 เท่าของความลึกของหลุม
ยกตัวอย่างเช่น
ยกของริมแม่น้ำ เอาไม้ยาวๆไปวัด น้ำลึก 4 เมตร
ให้ถอยออกมาตั้งขารถเครนไกลอย่างน้อย 6 เมตร จากปากหลุม
แต่หากจำเป็น อย่ารับงานประเภทนี้ 
เพราะว่าดินใต้พื้น สามารถไหลได้เหมือนคลื่นใต้น้ำ
รถเครนจะคว่ำทันที
2. หญ้า ทางน้ำผ่าน ท่อระบายน้ำ
หญ้า มีความชื้นอยู่ รถวิ่งเข้าไปก็จม วางขาก็ทรุด
ทางน้ำผ่าน ท่อระบายน้ำ อย่าเอาขารถเครนไปวาง
3. งานที่รถเครนไม่ได้อยู่บนพื้นโลก
เช่น งานที่รถเครนต้องขึ้นชั้น 2
หรือว่าทำงานชั้น 1 แต่มีใต้ดินหลายๆชั้น
(ยังไม่ค่อยเจอ ในประเทศไทย)
ต้องวางขารถเครนกับแนวคานหลักเท่านั้น
4. งานพื้นเอียงลาดชัน
ห้ามตั้งรถเครนในแนวลาดชันเด็ดขาด
รถเครนจะคว่ำได้ง่ายๆ หรือ พื้นอาจจะแตกเสียหายได้
เพราะความสามารถรถเครนคำนวณจากพื้นเกือบเสมอระดับน้ำ
ปล. ช่วงนี้ Admin ติดงานเยอะครับ
Admin คนอื่นๆ ก็ติดภารกิจหลายอย่าง
อาจจะตอบช้าหน่อยนะครับ
เครดิต แฟนเพจกลุ่มผู้ประกอบการรถเครน

สลิงที่หายไป ..

สลิงที่หายไป ..

ถ้าใช้สลิงยกของ 4 เส้น
ให้คำนวณน้ำหนักที่ 3 เส้น
ถ้าใช้สลิงยกของ 5 เส้น
ให้คำนวณที่ 4 เส้น
ถ้าใช้สลิงยกของ 6 เส้น 
ให้คำนวณที่ 5 เส้น
เหตุผล คือ จะมีสลิง 1 เส้น
ไม่ได้ออกแรง แค่ทำหน้าที่สมดุลการยก
(Act as a balance.)
ถามว่า ยกแล้ว ยกได้หรือเปล่า?
ตอบได้เลย ว่า .. ยกได้สบายมาก
เพราะว่าสลิงเผื่อค่าเซฟตี้ไว้เยอะมาก
แต่ถ้ายกเกินโหลดของสลิง
สลิงอาจจะผิดรูป ทำให้สลิงอายุการใช้งานไม่นาน
เรื่องการคำนวณสลิง สนุก และน่าสนใจมาก
ถ้ามีโอกาส Admin จะขอเล่าให้ฟังในโอกาสต่อๆไป
เจอกันสัปดาห์หน้าครับ ..
เครดิต แฟนเพจกลุ่มผู้ประกอบการรถเครน

ถ้าเชื่อถือที่วัดระดับน้ำในรถไม่ได้ ให้ทำอย่างไร?


ถ้าเชื่อถือที่วัดระดับน้ำในรถไม่ได้ ให้ทำอย่างไร?
ระดับน้ำ รถเครนมือสองที่เก่าๆ เชื่อถือไม่ค่อยได้
ซ่อมให้ดีก็ยาก หาอะไหล่ก็ไม่ได้ หาหน่วยงานมาสอบเทียบก็ไม่ค่อยมี
จะพกที่วัดไปด้วย ก็ทำหาย เจ้านายก็ไม่ให้
แล้วจะต้องทำอย่างไร
ในการแก้ไขสถานการณ์แบบนี้
คำตอบ คือ ..
ใช้รถเครนยืดบูมออกให้ยาวที่สุด เท่าที่จะทำได้
ทิ้งรอกลงมาถึงดิน 
ถ้าพื้นเอียงมากๆ จะสังเกตได้ทันทีว่าผิดปกติ
รอก และแนวสลิงจะไม่ตรงกับจุดศูนย์กลางของรถ
รถเครนโชคดีมาก เพราะว่าอุปกรณ์พร้อม
ในเรื่องการทดสอบแบบนี้
แต่ในเชิงเทคนิค และประสบการณ์แล้ว
ยังมีอีกหลายเทคนิคเรื่องวัดระดับน้ำนี้ แต่จะไม่กล่าวถึงไว้
เพราะว่า ค่อนข้างวัดผลได้ยาก
ใช้ความรู้สึก และความเคยชินเป็นส่วนใหญ่
ครั้งหน้า จะอธิบายเกี่ยวกับความสามารถที่ลดลง 
ในองศาที่แตกต่าง กัน 
ใครมีเทคนิคแนวนี้ เข้ามาแชร์กันได้นะครับ
เพื่อประโยชน์ของพวกเราทุกคน
เครดิต แฟนเพจกลุ่มผู้ประกอบการรถเครน

องศาที่แตกต่าง … ทำให้การยกต่างกัน

องศาที่แตกต่าง … ทำให้การยกต่างกัน
การทำงานบนพื้นเอียง
- ทำให้เกิดปัญหากับการทำงาน เช่น สวิงไม่ค่อยไป ของแกว่งแรง เป็นต้น
- สร้างภาระให้กับรถในระยะยาว เช่น เอวรถเครน เป็นต้น
- สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ ที่ตั้งรถ เช่น พื้นปูนอาจแตก เป็นต้น
- กราฟการทำงาน ตามมาตรฐาน คิดที่พื้นเอียงอย่างมาก 1 องศา
- รถบางยี่ห้อ คิดที่ 0.5 องศา
และมีเชิงเทคนิคเกี่ยวกับพื้นเอียงอีกมาก
แต่ยังไม่อธิบายในวันนี้ เพราะว่ามันเกินกว่าที่จะนำไปใช้ได้
เครดิต แฟนเพจกลุ่มผู้ประกอบการรถเครน

การหามคู่ (Tandem lift)

การหามคู่ เป็นประเด็นที่ร้อนแรงมากในบางประเทศ ว่าควรทำ หรือไม่ควรทำ

อุบัติเหตุเกิดขึ้นเยอะมาก เพราะความไม่รู้ ทำให้หลายคนตัดปัญหาไปว่า ไม่ควรทำ
อุบัติเหตุจากการหามคู่ สร้างความเสียหายแก่รถเครน ชิ้นงาน และชีวิตคนมากกว่าปกติ 
หลักการทฤษฎีเรื่องการหามคู่ มีรายละเอียดเยอะมาก และมีหลักการคำนวณหลายประการ
ทั้งแบบหามคู่ปกติ หรือว่าหามคู่โดยใช้ “บาร์” แต่วันนี้จะกล่าวถึงหลักการทั่วไป อย่างง่ายๆ 
1. การหามคู่ คือ การยกที่มีความเสี่ยงมาก ต้องวางแผนก่อนทำการยก ด้วยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์
ทีมงานทุกคนต้องรู้แผนโดยละเอียด ต้องมีผู้ควบคุมหลัก ควรควบคุมด้วย “วอ” ที่ส่งสัญญาณถึงทุกคนได้ 
2. ตรวจสอบพื้นให้ดี ได้ระดับ และความแข็งแรง
3. ไม่จำเป็นต้องเป็นรถเครนขนาดเดียวกัน ข้อสำคัญ คือ เครนที่ใหญ่กว่าต้อง ยกก่อน และวางทีหลัง
และรถเครนที่ใหญ่กว่า ต้องอยู่ใกล้กับ CG ของชิ้นงานมากกว่าเครนที่เล็กกว่า
4. การคำนวณการยก อย่ายกเกิน 75% ของกราฟรถเครนของแต่ละคัน (หลายคนแหกกฎข้อนี้)
5. ทำงานให้ช้าที่สุด ทั้งยกขึ้น และวางของลง ยกของให้เรี่ยพื้นที่สุด หลีกเลี่ยงการกระตุกเด็ดขาด
โดยเฉพาะงานรื้อ งานถอน ของเหลวในชิ้นงาน ของแข็งที่ไหลได้ในชิ้นงาน 
ต้องยกของให้ได้ระดับเดียวกับ ถ้ายกไม่สมดุลจะมีรถเครนคันที่ยกต่ำกว่ารับภาระที่หนักกว่า
สำคัญที่สุด คนขับรถเครน ต้องรู้ใจกันให้มาก ทำงานคู่กันมาก่อน
ทีมเวิร์คสำคัญที่สุด ในการหามคู่ครับ
เครดิต แฟนเพจกลุ่มผู้ประกอบการรถเครน

Tailing cranes. (ระวังหน้างานหลอก อ่านให้ถึงตอนท้าย.)

เรื่องนี้ติดค้างไว้กับผู้ที่เคยสอบถามมาว่า มีหลักการอย่างไร

ก่อนอื่น Tailing cranes ไม่รู้ว่าแปลเป็นภาษาไทยอย่างไร 
แต่แปลตามความเข้าใจในวงกว้าง ง่ายๆคือ
การยกแบบยกหัวยกหาง ตั้งของจากแนวนอน ไปสู่แนวตั้ง
หลักการยกจะมีการยก 2 วิธี แต่ยังไม่ลงรายละเอียด
หลักๆ คือ รถเครนคันหลัก จะยกหัว
ส่วนคันที่สอง จะยกหาง แล้วเคลื่อนที่เข้าไป
ข้อควรระวังในการยก
1. ยกให้ช้าที่สุด 
2. หลีกเลี่ยงการมัดสลิงแบบหักคอ (Choker) 
เพราะว่าสามารถไถลทำให้เกิดแรงกระตุก
ให้ใช้หูเกี่ยว หรือบาร์ถ่าง จะปลอดภัยกว่า
3. ระวังของเหลวที่อยู่ข้างใน
ถ้าเป็นไปได้เอาออกให้หมดก่อน 
เพื่อลดแรงกระตุก
4. รถเครนคันหลัก ตั้งรถให้มั่นคง
คำนวณโหลดชาร์ตแค่ตำแหน่งเดียว
ขยับเครนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
แค่ยกขึ้นอย่างเดี่ยว (หรือเบส)
รถเครนคันหลักอาจต้องเจอกับน้ำหนักที่มากกว่าการคำนวณ
เพราะของจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นระหว่าง
ชิ้นงานกำลังเปลี่ยนจากนอน ไปเป็นตั้ง
เพิ่มเติม งานแบบนี้ถ้าเป็นรถเครนขนาดเล็กอาจจะไม่ค่อยเจอกัน
จากประสบการณ์งานทำนองนี้นั้น
สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ การตั้ง ง่ายกว่า การนอน
เพราะตอนตั้งเราทดสอบได้ง่าย แต่ตอนนอนถ้าเรารู้ว่าไม่ไหวแล้ว
รถเครนมันก็ไปแล้ว .. แก้ไขไม่ทัน
ยกตัวอย่างเช่น ใช้รถเครน 50 ตันในการตั้งถังแชมเปญ
ไม่ได้แปลว่ารถเครน 50 ตันจะนอนถังได้
อาจจะ 70, 80 หรือ 100 ตันด้วยซ้ำ 
เพราะเหตุการณ์แบบนี้ทำรถเครนคว่ำมาหลายกรณี
ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ
จากการที่หน้างานบอกว่าตอนตั้งใช้รถ 50 ตันได้
รถเครน 50 ตันเคยทำได้ ทำไมต้องใช้ใหญ่กว่า
เพื่อประหยัดเงินไม่กี่ตัง สุดท้ายรถเครนคว่ำ 
เพราะตอนถังนอนลง แล้วรถเครนเอาไม่อยู่ 
ไม่บูมหัก ก็รถคว่ำ คนตาย ชิ้นงานพัง
ฟ้องร้องกันเสียเวลา เสียเงินทองกันต่อไป
เครดิต แฟนเพจผู้ประกอบการรถเครน

สาเหตุหลักของอุบัติเหตุรถเครน

สาเหตุหลักของอุบัติเหตุรถเครน จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมเครนแห่ง AUS ไม่เรียงลำดับนะครับ ถ้าอ่านแล้วจำได้ขึ้นใจ ทุกสาเหตุ ป้องกันอุบัติเหตุได้ 98% ที่เหลือขึ้นอยู่กับดวง (Act of god.)

  • การสัมผัสสายไฟฟ้า (ปัญหาอันดับ 1 ของวงการเครนออสเตรเลีย)
  • การยกเกินลิมิตรถ
  • สภาพพื้นไม่พร้อมทำงาน
  • รถเครนทำงานในพื้นที่ไม่ได้ระดับ
  • ไม่ได้กางขา
  • กางขาไม่สุด
  • แผ่นรองขาไม่เหมาะสม
  • เครื่องจักรมีปัญหา
  • สลิงบกพร่อง
  • สภาพอากาศเลวร้าย แต่ยังทำงานต่อ
  • ประกอบเครนไม่ถูกต้อง
  • การใส่เครน และถอดเครน ที่ไม่ถูกวิธี
  • ตะขอชำรุด
  • ไม่ตั้งใจทำงานขณะขับเครน ไม่มีสมาธิ
  • เข้าใจสัญญาณมือเครน หรือสัญญาณเสียงผิดพลาด
  • ยกด้วยความเร็ว สวิงด้วยความเร็ว
ความไม่ระวัง ความประมาท ไม่ถือว่าเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุรถเครน เพราะไม่มีค่าอะไรในการเก็บข้อมูล 2 คำนี้ จะหลีกเลี่ยงในการใช้ 2 คำนี้ในการเขียนรายงานอุบัติเหต (Incident reports.)
เครดิต แฟนเพจกลุ่มผู้ประกอบการรถเครน

แรงกดที่ขาเครน คิดอย่างไร (Bearing pressure under outriggers.)

แรงกดที่ขาเครน คิดอย่างไร (Bearing pressure under outriggers.)

ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่า มีหลายทฤษฎีมากๆ เพราะว่ารถเครนมีหลายชนิด หลายแบบ หลายยี่ห้อ หลายประเทศ หลายสถานการณ์ หลายสภาพพื้นดิน ค่าความปลอดภัยในการเผื่อ และอีกหลายปัจจัย แต่วันนี้จะขอหยิบยกมาด้วยทฤษฎีสมัยใหม่ ในการคำนวณแรงกดขาเครนสำหรับรถเครนล้อยางจากซีกโลกฝั่งโอเชียเนีย อาจจะยาวหน่อยนะครับ แต่ก็ไม่ได้ยากกว่าที่คิดนะครับ
พื้นฐานของเรื่องนี้ ต้องอธิบายคร่าวๆ 4 เรื่อง
เรื่องแรก ขาของรถเครนโดยส่วนใหญ่มี 4 ขา โดยล้อต้องลอยจากพื้น ห้ามรับน้ำหนัก ห้ามใช้ไม้หมอนรองหนุน ห้ามใช้อะไรมาค้ำขารถเครนไว้ไม่ให้กระดก
เรื่องสอง หลักการของไม้กระดกในสนามเด็กเล่น ฝั่งที่เรานั่งขับเครน คือ ฝั่งนึงของไม้กระดก ส่วนอีกฝั่ง จะเป็นฝั่งของชิ้นงาน น้ำหนักทั้งหมดจะกดลงที่ จุดหมุนของไม้กระดก หรือพูดอีกอย่าง คือ “จุดหมุนในการยกของ” คือ “ขารถเครน”
เรื่องสาม น้ำหนักกดที่เราคำนวณ คิดง่ายๆ คือ น้ำหนักของรถเครนทั้งหมด + น้ำหนักของชิ้นงาน ต่อไปจะเรียกว่า “น้ำหนักกดรวม”
เรื่องสี่ พื้นฐานของการคำนวณ ต้องยึดหลักว่า อยู่ในระดับน้ำทะเล 0 องศา
ถ้ายังไม่เข้าใจ กลับไปอ่านซ้ำใหม่ แล้วนึกภาพตามครับ ถ้าเข้าใจแล้ว มาต่อเลยครับ จะสอนการคำนวณของจริงกันแล้ว
วิธีการคำนวณมีขั้นตอนดังนี้ครับ
หนึ่ง, เอา “น้ำหนักรวม” (น้ำหนักรถเครน + น้ำหนักชิ้นงาน) เป็นตัวตั้ง
สอง, แรงกดของขารถเครนข้างที่ใกล้ชิ้นงาน ให้คิดข้างละ 75% ของน้ำหนักกด ส่วนข้างที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับชิ้นงาน ให้คิดข้างละ 50%
สาม, เอาจำนวนพื้นที่หารน้ำหนักในแต่ละข้าง เราจะได้น้ำหนักแรงกดต่อพื้นที่ ไปเปรียบเทียบกับ วิศวกรโยธา (Civil Engineer) ที่คำนวณไว้
ยกตัวอย่างเช่น รถเครนน้ำหนัก 96 ตัน น้ำหนักถ่วง 135 ตัน ยกของ 49 ตัน ใช้แผ่นเหล็กแบบ 2ม. X 2ม. ขารถเครนแต่ละข้างรับน้ำหนักที่เท่าไหร่
น้ำหนักรวม คือ 96 + 135 + 49 ตัน = 280 ตัน
จำนวนพื้นที่ คือ 2ม. X 2ม. = 4 ตารางเมตร
ขารถเครนข้างฝั่งที่ยกของคำนวณที่ 75%
280 x 0.75 = 210 ตัน
แรงกดต่อตารางเมตร คือ 210ตัน/4ตารางเมตร = 52.5 ตันต่อตารางเมตร
ขารถเครนข้างฝั่งตรงข้ามคำนวณที่ 50%
280 x 0.5 = 140 ตัน
แรงกดต่อตารางเมตร คือ 140ตัน/4ตารางเมตร = 35 ตันต่อตารางเมตร
ทีนี้ต้องคำนวณดูว่า พื้นที่รับแรงกดพอได้หรือเปล่า (Admin มีตารางอยู่ ถ้ามีเวลาจะเอาให้ดูวันหลัง) ถ้าไม่พอก็มี 2 วิธี คือ หนึ่ง, ปรับสภาพพื้นที่ กับ สอง, ขยายขนาดของแผ่นรองขา ซึ่งวิธีที่สองจะใช้ได้ง่ายกว่า ประหยัดกว่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ครับไม่ตายตัว
เพิ่มเติม
Admin คิดว่าประเทศไทยยังล้าหลังเรื่องนี้อยู่ 2 ประเด็น คือ หนึ่ง, ผู้ใช้งานรถเครนไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องนี้เลย เพราะมัวแต่ตรวจเอกสารรถเครนซึ่งไม่ได้มีความสำคัญเท่าพื้นที่การตั้งรถ และ สอง, กฎหมายที่บังคับใช้ ออกมาแต่ในรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ค่อยถูกจุด ทำให้คนมีอำนาจบางคนเอาเรื่องกฎหมายมาใช้หากินกับผู้ประกอบการแบบผิดๆ เรื่องอันตรายที่สุดของรถเครน คือ พื้นที่การตั้งรถ แต่กลับไม่มีกฎหมายเป็นชิ้นเป็นอัน ผู้ใช้งานก็ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ มัวแต่บังคับให้ไฟติดรอบคัน เอกสารครบ ประกันรถ ยางสภาพดี(ทั้งๆที่ เวลารถเครนยกของ ล้อไม่คิดพื้น)
สุดท้ายนี้ อยากจะฝากเรื่องนี้ไว้ และอีกหลายๆเรื่อง ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์เอาไปใช้กันครับ แชร์กัน จะได้ลดจำนวนคนตาย คนบาดเจ็บ เพราะคิดว่า ในอนาคตของประเทศไทย รถเครนใหญ่ๆยังเข้ามากันอีกเยอะ และมีแนวโน้มจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่อยากให้กฎหมายออกมาหลังจากที่มีคดีคนตายแล้วเหมือนเดิม ยาวหน่อย แต่หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ ขอให้พระคุ้มครอง เดินทางปีใหม่นี้อย่างปลอดภัย และสวัสดีปีใหม่ทุกท่านครับ
เครดิต แฟนเพจกลุ่มผู้ประกอบการรถเครน

ขายรถเครน รถเครนมือสอง นำเข้าจากญี่ปุ่น มีตรวจสภาพเครนก่อนส่ง

ขายรถเครน นำเข้า รถเครนมือสอง ส่งตรงจากประเทศญี่ปุ่น พร้อมคำปรึกษาในการใช้เครนมือสอง บริษัทเราติดต่อซื้อรถโมบายเครนจากญี่ปุ่นเป็นประจำ มีข้อมูลของเครนทั่วประเทศญี่ปุ่น

ติดต่อ 089-0016161
cranesyama@gmail.com

5 ข้อที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจซื้อรถเครนล้อยาง (ความคิดเห็นส่วนตัว)

5 ข้อที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจซื้อรถเครนล้อยาง (ความคิดเห็นส่วนตัว)
มีคนถามเข้ามาเยอะมาก ทั้งถามเป็นการส่วนตัว โทรมาถาม พิมพ์มาถาม พวกเราตอบกันซ้ำๆ เลยเอามาเขียนไว้เผื่อเป็นข้อมูลประกอบในการหาซื้อรถเครน ต้องแจ้งก่อนว่าเราเขียนเมื่อเดือน มค. 2557 กลัวว่าถ้าผ่านไปหลายๆปี ข้อมูลอาจจะไม่เหมาะสม อาจจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย แต่ต้องแจ้งก่อนว่า เราอ้างอิงจากตำราบ้าง กฎหมายบ้าง ประสบการณ์บ้าง มีคนเล่าใหฟังบ้าง ความคิดเห็นส่วนตัวบ้าง พยายามรวบรวมไว้ เป็น 4 ข้อ ดังนี้ครับ
...........................
ข้อแรก ความเข้าใจที่ผิดๆเกี่ยวกับรถเครนที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ และธรรมชาติของรถเครนในประเทศไทย
รถเครน 25 ตัน ไม่ได้แปลว่ายกของได้ 25 ตัน และรถเครน 25 ตัน ไม่ได้แปลว่ารถเครนหนัก 25 ตัน ที่เราเรียกรถเครน 25 ตัน เพราะว่าการยกในอุดมคติจะยกได้ที่ 25 ตัน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ คือ รถเครน 25 ตัน ในการยกของที่น้ำหนักใกล้ที่สุด แทบจะชิดรถ จะยกได้ 25 ตัน แต่ทำได้แค่ยกขึ้น นิดเดียว แล้วก็วางลง ประเด็นที่สำคัญ คือ ธรรมชาติของการยกของ ต้องยกเพื่อเคลื่อนย้ายที่ และ ของน้ำหนัก 25 ตัน ปกติจะมีขนาดใหญ่มากๆ ทำให้ยกตามอุดมคติไม่ได้
โดยปกติ แค่น้ำหนักครึ่งนึงของขนาดรถเครนก็แย่แล้ว จากประสบการณ์ของหลายๆคน ยกตัวอย่างเช่น รถเครน 25 ตัน จะยกของ 12 ตันก็เต็มกลืนแล้ว หรือรถเครน 50 ตันจะยกของ 25 ตันก็พอฟัดพอเหวี่ยง ถ้าคิดจากการคำนวณสลิงที่ทบในรอก (ถ้ามีเวลาจะอธิบายการคำนวณให้ฟังในตอนต่อๆไป) ถ้าเราต้องการยกของ ควรศึกษากราฟการทำงานรถเครนให้ดี ก่อนซื้อ ว่าเราใช้ในระยะเท่าไหร่ น้ำหนักสูงสุดเท่าไหร่ เอากราฟมาเปรียบเทียบ และอ้างอิง ว่าแบบไหนที่เหมาะสมกับเราที่สุด ตามมาตรฐานของหลายๆประเทศ เช่น มาตรฐานรถเครนญี่ปุ่น มาตรฐานรถเครนอเมริกา มาตรฐานรถเครนออสเตรเลีย ให้คิดที่ 75% ของกราฟ (อันนี้ก็เป็นเรื่องที่อยากจะอธิบายในตอนต่อๆไปเช่นกัน แต่ยังไม่มีเวลาเลยครับ)
รถเครนล้อยางในไทยตอนนี้ มี 2 ประเภท ถ้าไม่นับรถบรรทุกติดเครน หรือรถเฮี๊ยบ (Boom trucks, or Cargo cranes, or Truck loader cranes) คือ เรียกชาวบ้านๆว่ารถเครน 4 ล้อ (Rough terrain cranes) กับรถเครน12ล้อ หรือรถยาว (Truck cranes)
หมายเหตุ ไม่ได้นับรถเครนแบบ All Terrain Cranes ที่มีขนาดใหญ่มาก เช่น 100 ตันขึ้นไป เป็นต้น ผู้ที่ซื้อต้องเป็นคนที่เชี่ยวชาญเรื่องรถเครนอยู่แล้ว จะไม่ขอกล่าวถึงในบทความนี้
รถเครน 4 ล้อ (Rough terrain cranes) ในปัจจุบันมีแต่ละเครนจากค่ายญี่ปุ่น 95% ที่ใช้งานในเมืองไทย เป็นรถเครนมือสองที่ใช้งานแล้วจากญี่ปุ่น แบรนด์ญี่ปุ่นเกือบจะ 100% มีรายละเอียดในแต่ละรุ่นแต่มันละเอียดเกินไป จะอธิบายข้อดีข้อเสียแบบภาพรวมให้ฟัง พร้อมทั้งข้อแนะนำเพิ่มเติม อ้างอิงจากสมาคมเครนประเทศญี่ปุ่นครับ
ข้อดีของรถเครน 4 ล้อ คือ
หนึ่ง, รถเครน 4 ล้อ สามารถปรับล้อได้ ทำให้ซอกแซกเข้าในที่แคบๆได้ดี
สอง, ห้องบังคับเครนมี ห้องเดียว ทำให้สะดวกในการทำงาน เหมาะสำหรับการทำงานแบบระยะยาวในพื้นที่เดียวกัน

ข้อเสียของรถเครน 4 ล้อ คือ
หนึ่ง, รถเครน 4 ล้อรุ่นเก่าๆวิ่งไกลไม่ได้ ไม่ควรวิ่งไกลเกิน 10 km เพราะจะทำให้ชุดเกียร์พัง การวิ่งขึ้นเขา ลงเขาบ่อยๆ จะทำให้ชุดเกียร์สึกหรอเร็ว เวลาเกียร์พัง มีต้นทุนในการซ่อมไม่ต่ำกว่าแสนบาทไทย
สอง, จากข้อหนึ่ง ทำให้ รถเครน 4 ล้อ อาจมีปัญหาเรื่องการขนส่ง ขนย้าย ต้องใช้รถเทรลเลอร์ low-bed ในการขนย้าย
ข้อเสนอแนะ
หนึ่ง, รถเครนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ๆ จะมีระบบความปลอดภัยที่สูงกว่า เพราะมันคือระบบการป้องกันของผู้ผลิตในประเทศญี่ปุ่น แต่มีข้อเสียคือ รถเครนยิ่งใหม่ ระบบไฟฟ้ายิ่งซ่อมยาก ในเมืองไทยยังขาดแคลนช่างไฟฟ้ารถเครนอีกมาก ทำให้ต้นทุนในการซ่อมอาจจะแพง ทั้งในเรื่องอะไหล่
สอง, ในอนาคตของประเทศไทย เราก็คงหลีกเลี่ยงระบบไฟฟ้าที่มีความซับซ้อนไม่ได้

รถเครน 10-12 ล้อ (Truck Cranes) ในอดีตมีรถเครนของประเทศญี่ปุ่นอยู่เยอะมาก แต่ภายหลังการก่อสร้างในประเทศญี่ปุ่นมีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ ทำให้ญี่ปุ่นต้องผลิตรถเครนแบบเล็กๆ สั้นๆ บูมแปลกๆ (ในอนาคตอีก 4-5 ปี พวกเราอาจจะได้เห็นกัน) ทำให้รถเครน 10-12 ล้อมีน้อย แต่ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นที่สำคัญ คือ รถเครนญี่ปุ่นแบบ 10-12 ล้อ นำเข้ายากมาก จนแทบไม่มีคนนำเข้ามาเลย สำหรับรถเครนแบบนี้ที่เป็นมือสองจากประเทศญี่ปุ่น จะไม่ขอกล่าวถึงว่าเพราะสาเหตุอะไร แต่ว่าถ้าซื้อรถเครนมือ 1 ก็สามารถซื้อได้ แต่ราคาจะค่อนข้างแพง รวมถึงรถเครนของค่ายอเมริกา และยุโรปที่ไม่ใช่รถตลาดบ้านเรา สำหรับแบบ truck cranes
แต่เราก็มีทางเลือกใหม่ ในตอนนี้คือ รถเครนใหม่ป้ายแดงของค่ายจีน ที่เพิ่งเข้าตลาดเมืองไทยมาไม่กี่ปีนี้เอง 2-3 ราย และอาจจะมีเพิ่มขึ้น บางครั้งราคาถูกกว่ารถเครนญี่ปุ่นมือสองซะอีก แต่ว่าไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ ไม่มีข้อมูลอ้างอิง จะไม่ขอกล่าวถึงครับ

ข้อดีของรถเครน 10-12 ล้อ คือ
หนึ่ง, รถเครนสามารถวิ่งไปทำงานได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยรถเทรลเลอร์หาง low-bed ขนส่ง
สอง, รถเครนประเภทนี้ ถ้าเป็นรถเครนญี่ปุ่นมือสอง จะซ่อมง่ายกว่ารถเครน 4 ล้อ เพราะว่าระบบรถเครนอยู่ในยุค 1970-1990 เป็นส่วนมาก ระบบยังไม่ซับซ้อน
สาม, ถ้าเป็นรถเครนจีน ก็จะมีข้อดีตรงที่มีบริษัทผู้ขายเป็น dealer ในการดูแลเรื่องการซ่อมบำรุง และจัดอะไหล่ให้
ข้อเสียของรถเครน 10-12 ล้อ คือ
หนึ่ง, รถเครนมือสองญี่ปุ่นที่รุ่นเก่าๆมากๆ ในอนาคต จะหาอะไหล่ยาก เพราะว่ามันเก่าเกินไปแล้ว ทำให้หาอะไหล่จากญี่ปุ่นไม่ได้ ต้องทำการ modify กัน แต่โดยรวมแล้ว อะไหล่ทั่วไปยังหาได้ง่ายในท้องตลาด ทั้งของแท้ ของเทียม
สอง, รถเครน 10-12 ล้อ แบบรถญี่ปุ่นมือสอง หายากมากๆ ทำให้หาซื้อแทบไม่ได้ หรือว่าถ้าหาซื้อได้ราคาจะแพงจนน่าตกใจ เพราะว่ามีแต่คนหาซื้อ ไม่มีคนอยากจะขาย พวกผู้ประกอบการนิยมเล่นรถประเภทนี้ เวลาขายก็ขายได้ราคา ทำให้หาซื้อแทบไม่ได้ ข้อนี้ มีคนถามเข้ามาเยอะมาก หวังว่าจะตอบข้อสงสัยของคนทั่วไปได้นะครับ
สาม, รถเครน 10-12 ล้อ มีห้องขับรถ 1 ห้อง ห้องบังคับเครน อีก 1 ห้อง ทำให้ใช้เวลาในการทำงานมากกว่ารถเครน 4 ล้อ เหมาะกับการทำงานแบบครั้งคราว หรืองานแบบเฉพาะกิจ
ข้อเสนอแนะ
หนึ่ง, รถเครนแบบ 10-12 ล้อ ถือว่าเป็นที่ต้องการของตลาดเมืองไทยมาก เพราะลักษณะการทำงานทั่วไป หรืองานเช่า จะต้องมีการเคลื่อนย้ายรถเครนเยอะมาก เช่น การทำงานข้ามจังหวัด ข้ามอำเภอ เป็นต้น
สอง, ...
...........................
ข้อสอง รถเครนล้อยางที่ใช้ในไทยมียี่ห้ออะไรบ้าง จากค่ายไหนบ้าง
เท่าที่รวบรวมข้อมูล และที่เคยเห็น Market Share ของตลาดโลก ขอสรุปให้ฟังง่ายๆว่ามีรถเครนทั้งหมด 3 ค่าย คือ รถเครนค่ายตะวันตก 2. รถเครนค่ายญี่ปุ่น 3. รถเครนค่ายจีน ที่เป็นเสาหลักในประเทศไทย ในปี 2557 นี้
รถเครนของญี่ปุ่นจะมีทั้งหมด 5 ยี่ห้อหลักๆ
Kobelco, Tadano, Kato, Komatsu, Sumitomo
รถเครนของจีนจะมีทั้งหมด 3 ยี่ห้อที่เข้ามาเมืองไทยแล้ว คศ.2014
XCMG, Sany, Zoom Lion
รถเครนตะวันตก มีหลายยี่ห้อ
Liebherr(Germany) Demag(Germany) Grove(USA) และอื่นๆ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญในตอนนี้
...........................
ข้อสาม จุดประสงค์ของการซื้อรถเครน
ข้อนี้สำคัญมาก เพราะว่า คนที่มีคำถามว่า จะซื้อเครนอะไรดี ขนาดเท่าไหร่ดี มันขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ ของการซื้อรถเครน จริงๆแล้วภาพรวมของรถเครนยังมีรถเครนแบ่งแยกอีกหลายประเภท ไมว่าจะเป็นเครนแบบไม่เคลื่อนที่ หรือรถเครนแบบเคลื่อนที่ หรือ โมบายเครนอื่นๆ เช่น รถเครนตีนตะขาบ(Crawler Cranes) รถเครนแบบแปลกๆมีอีกเยอะ ที่ไม่ค่อยเห็นในไทย เช่น รถเครนแบบบูมไฮโดรลิกแต่เป็นตีนตะขาบ เครนที่อยู่บนเรือ เครนแบบยกของแล้ววิ่งได้ (Pick and Carry) เครนเรือ และอื่นๆอีกมากมาย ก่อนที่จะหาซื้อจุดประสงค์ของการซื้อรถเครน อาจจะต้องดูปัจจัยอื่นๆ เช่น ความพร้อมในการซ่อมบำรุงเครน การใช้งาน การคำนวณกราฟการทำงาน เงินทุนที่มี การผ่อนชำระเงิน ความยืดหยุ่นในการขายต่อ ความถนัด การพัฒนาของเครนที่เปลี่ยนแปลงไปทุกปี และอื่นๆอีกมากมาย

คิดจุดประสงค์ที่แท้จริงให้ออก แล้วคิดต่อได้ง่าย ว่าจะซื้อรถเครนแบบไหนดี
...........................
ข้อสี่ ข้อแตกต่างของรถเครน กับรถประเภทอื่นๆ คือ ระบบการซ่อม
สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่เคยอยู่ในวงการรถเครน แต่อยากซื้อรถเครน ควรคิดพิจารณาเรื่องปัจจัยของการซ่อมของรถเครนในประเทศไทย
หนึ่ง, ประเทศไทยซ่อมรถเครนแบบไม่ค่อยอ้างอิงตำรา เป็นการลองผิดลองถูก และหาช่างซ่อมไม่ค่อยได้ เวลาจะซ่อมควรตรวจสอบประวัติของช่างให้ดี มีช่างหลายคนมีประวัติไม่ค่อยดี ผู้ประกอบการหลายคนโดนกันมาแล้ว แนะนำว่าต้องตรวจสอบที่มาที่ไปให้ดี
สอง, รถเครนมีปัญหาเรื่องระบบไฟฟ้ามากที่สุด หาช่างยาก ต้นทุนในการซ่อมแพง อะไหล่แต่ละตัวแพง รองลงมาเป็นเรื่องระบบไฮโดรลิก ซึ่งเป็นระบบหัวใจในการทำงานของรถเครนล้อยาง ต้องการช่างที่ทำงานละเอียด และมีความชำนาญมาก
สาม, สภาพรถเครน ขึ้นอยู่กับ พฤติกรรมการใช้รถของคนขับ ต้องตรวจสอบ ควบคุมคนขับรถเครนของเราให้ดี หลายครั้งรถเครนที่ดี ก็กลายเป็นรถเครนห่วยๆได้ รถเครนห่วยๆ ก็สามารถเป็นรถเครนดีๆได้ ขึ้นอยู่กับคนขับของเราครับ คนขับคือหัวใจสำคัญ ต้องให้ความสำคัญมากๆ
สี่, ในอนาคต ทั้งในญี่ปุ่น และไทย รถเครนจะมีระบบไฟฟ้าที่มากขึ้น ช่างยุคใหม่ๆที่เกิดขึ้น จะแก้ปัญหารถเครนกันไม่เก่งเท่าช่างสมัยก่อน เพราะว่าจะเรียนจากการถอดเปลี่ยนอะไหล่มากกว่าการแก้ปัญหา ใครที่คิดว่าซื้อรถเครนมาแล้ว ในระยะยาวไม่ต้องซ่อม ขอให้คิดดีๆ เพราะว่ารถเครนมีปัญหาเรื่องงานซ่อมตามมาเยอะ เช่น ยางรั่ว สายไฮโดรลิกแตก(อันนี้ป้องกันไม่ได้ เรียกว่า Run to Fail) น้ำมันไฮโดรลิกรั่ว เป็นต้น
ห้า, ข้อแนะนำสำหรับเรื่องงานซ่อม แนะนำให้ดูแลรถเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) ในกฎหมายของประเทศอื่น จะบังคับให้มี LogBook บังคับให้ตรวจสอบเครนทุกวัน หรือจดบันทึกประวัติการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันชนิดต่างๆ เปลี่ยนกรอง ดูแลสลิง เป็นต้น การปล่อยให้รถเครนเสียแล้วค่อยซ่อม (Breakdown Maintenance) จะมีต้นทุนที่สูงกว่าการดูแลรถเชิงป้องกัน เรื่องนี้สำคัญมาก กับการใช้รถเครนในระยะยาว ต้องให้ความสำคัญมากๆครับ

...........................
จบทั้ง 4 ข้อแล้ว
สุดท้ายอยากจะฝากเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน เพราะว่ารถเครนเป็นเครื่องจักรที่มีความเสี่ยงสูงมาก อาจทำอันตรายแก่ชีวิตของคนรอบข้าง หรือคนที่ไม่เกี่ยวข้องได้ ไม่ว่าจะเป็นรถเครนล้ม รถเครนคว่ำ สลิงขาด อุบัติเหตุบนท้องถนน มีคนตายเยอะมากกว่าที่พวกเรารู้ มากกว่าที่พวกเราเห็น แต่ไม่ออกข่าว การซื้อรถเครนไปแล้ว เราต้องดูแลพวกเขาให้ดี ในจุดความเสี่ยงต่างๆ ให้ความรู้กับช่าง ให้ความสำคัญกับพนักงานขับรถเครนมากๆ ขอให้พวกเราทุกคนทำงานกันโดยปลอดภัยทุกวันครับ
เครดิต ลูกเพจนิรนามท่านหนึ่ง